หมอเร่งวิเคราะห์ หลังพบผู้ป่วยโควิดตายเพิ่ม อายุไม่มาก ไร้โรคประจำตัว
วิเคราะห์ผู้ป่วย โควิด เสียชีวิต
เมื่อวันที่ 30 มี.ค. นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค เปิดเผยในการแถลงข่าวสถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ในส่วนผู้เสียชีวิต ว่า มีผู้เสียชีวิตวันนี้ (30 มี.ค.) จำนวน 2 ราย เป็นชายไทย อายุ 54 ปี ชาวยะลา มีประวัติเดินทางมาจากมาเลเซีย กับหญิงไทยอายุ 56 ปี ใน กทม. รักษาอยู่ในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง พบภาวะปอดอักเสบรุนแรง
เมื่อถามว่าผู้เสียชีวิตรายใหม่ทั้ง 2 ราย ยังอายุไม่มาก เป็นเพราะมีโรคประจำตัวหรือไม่ นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า เท่าที่ทราบไม่ได้มีโรคประจำตัว แต่กำลังดูในรายละเอียดอยู่ว่า ทำไมผู้ป่วยไม่มีโรคประจำตัว 2 ราย ถึงมีอาการรุนแรงและเสียชีวิต ต้องดูว่ามาโรงพยาบาลช้าไปหรือไม่
ต้องเรียนว่าบางรายที่เราวินิจฉัย และบอกว่ามีอาการรุนแรงก่อนหน้านี้ จะได้ข้อมูลว่าบางท่านไม่ยอมบอกว่าตัวเองไปสนามมวย หรือไปสถานบันเทิงมา จริงๆ แล้วการป่วยโควิดไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ก็เชิญชวนอยู่เสมอว่า คนไปสนามมวย ถ้าไม่สบายให้รีบออกมา ให้แพทย์ตรวจว่าป่วยหรือไม่ป่วย และจะเป็นการป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อคนอื่น และได้รับการตรวจที่เหมาะสม
เมื่อถามถึงผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่า เกินครึ่งมีอายุ 60 ปีขึ้นไปและมีโรคร่วม เป็นประเด็นที่เราเป็นห่วง เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรงและเสียชีวิต ส่วนที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงและมีอาการรุนแรงก็เกิดขึ้นได้
เพราะโรคนี้เมื่อป่วยขึ้นมาทุกคนไม่มีภูมิคุ้มกัน แปลว่าร่างกายต้องให้เม็ดเลือดขาว และระบบภูมิคุ้มกันจัดการ ถ้าหากร่างกายจัดการได้ไม่ดี เราจะป่วยมากขึ้น รุนแรงมากขึ้น การขจัดเชื้อจากร่างกายจะทำไม่ค่อยได้ เมื่อไรมีอาการกระทบต่ออวัยวะสำคัญ ก็ทำให้อาการรุนแรงและเสียชีวิต ดังนั้น การวินิจฉัยเร็วให้การรักษาที่ถูกต้อง จะเป็นสิ่งที่ลดความรุนแรงลงได้
นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ตรวจราชการ สธ.เขตสุขภาพที่ 1 ภาคเหนือตอนบน กล่าวว่า มีอีก 2 ปัจจัยทำให้คนไข้ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมีอาการรุนแรงถึงเสียชีวิต คือ 1.จำนวนเชื้อที่เข้าไปมีจำนวนมาก โอกาสแพร่กระจายลงไปในปอดก็เร็วขึ้น และ
2.ความไวต่อเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคของแต่ละคนแตกต่างกัน อย่างบางคนเชื้อไม่มาก แต่โรคสามารถลุกลามในปอด แต่กลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรงยังคงเป็นกลุ่มเสี่ยงคือ มีโรคประจำตัว มีโรคทางปอด และผู้สูงอายุ
No comments